บนม้านั่งมิตรภาพ
ความโชคร้ายของ lorence Manyande เริ่มขึ้นปี 2010 เธอสูญเสียทุกอย่างและรู้สึกหดหู่ใจอย่างมาก ชีวิตของเธอตกต่ำขั้นสุด ตอนที่เธอประสบอุบัติเหตุถูกรถชน สามีได้ทิ้งเธอไป เธอต้องดูแลลูกทั้งสามคนด้วยตัวเอง เธอไม่รู้ว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนได้อย่างไร เธอไม่มีบ้าน และครอบครัวของเธอปฏิเสธที่จะรับเธอเข้ามา เธอรู้สึกสิ้นหวัง แต่หลังจากถูกรถชนในวันนั้น ผู้หญิงคนหนึ่งได้พาเธอไปที่คลินิกเพื่อรับการรักษา
ผู้หญิงคนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเธอได้แนะนำให้ Manyande ได้รู้จักกับสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล นั่นก็คือม้านั่งตัวหนึ่ง แต่ไม่ใช่แค่ม้านั่งธรรมดา แต่เป็นม้านั่งแห่งมิตรภาพ (Friendship Bench) ซึ่ง Dr. Dixon Chibanda จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยซิมบับเว โดยทั่วไปความเจ็บป่วยทางจิตถือเป็นความอัปยศ และในประเทศซิมบับเวถือเป็นเรื่องเลวร้าย การป่วยทางจิตมักถูกมองว่าเป็นการสาปแช่ง และผู้คนจะแสวงหาการไล่ผีแทนการไปคลินิกสุขภาพจิต ดร. ชิบันดา พบว่าแม้ผู้คนจำนวนมากปฏิเสธที่จะไปคลินิก แต่หลายคนก็ดูสบายใจที่จะมานั่งบนม้านั่งในสวนสาธารณะ และแบ่งปันปัญหากับสมาชิกในชุมชนของตน ที่ปรึกษาชุมชนเหล่านี้มักเป็นสตรีอาวุโส ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน พวกเขาจะพูดคุย และร่วมกันวางแผนเพื่อเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้น
งานวิจัยเกี่ยวกับกิจกรรมม้านั่งมิตรภาพนี้ แสดงผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ มีการทดสอบคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานในเรื่องความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า รวมถึงการสั่งยาตามความจำเป็น ส่วนอีกกลุ่มได้รับประสบการณ์จากม้านั่งมิตรภาพ หลังจากหกเดือน ครึ่งหนึ่งของกลุ่มมาตรฐานยังคงมีอาการอยู่ แต่กลุ่มที่รับการรักษาจากม้านั่งมิตรภาพมีเพียง 13% เท่านั้นที่ยังมีอาการ
ม้านั่งมิตรภาพนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านความคิดในเรื่องความเจ็บป่วยทางจิตในซิมบับเว ผู้คนรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดถึงอาการของพวกเขา ทําให้เรื่องความเจ็บป่วยนี้ไม่ใช่เรื่องของคําสาป ม้านั่งมิตรภาพประสบความสำเร็จอย่างมาก และกำลังแพร่กระจายไปยังหลายเมือง
Manyande หายจากอุบัติเหตุแล้ว เธอและลูกๆ ของเธอได้มีบ้าน ผ่านชุมชนเพื่อนใหม่ที่ให้การสนับสนุน เธอเรียนรู้ที่จะถักกระเป๋าเพื่อสร้างรายได้ และความสัมพันธ์ของเธอกับครอบครัวก็ดีขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด เธอรู้สึกดีขึ้นทางด้านอารมณ์และไม่คิดฆ่าตัวตายอีกต่อไป เธอบอกว่าหนึ่งในส่วนที่ดีที่สุดของน้านั่งมิตรภาพนี้ คือการรู้ว่ามีใครบางคนที่พร้อมจะรับฟัง
โครงการม้านั่งมิตรภาพ
โครงการ Friendship Bench (FB) เป็นการ ให้ความช่วยเหลือที่พัฒนาขึ้นในซิมบับเว เพื่อเชื่อมช่องว่างการรักษาสุขภาพจิต FB มีจุดมุ่งหมายเพื่อ เสริมสร้างความผาสุกทางจิต และปรับปรุงคุณภาพชีวิตผ่านการบำบัดเพื่อแก้ปัญหาซึ่งมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่ทุกข์ทรมานจากความผิดปกติทางจิตทั่วไป เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ผ่านการฝึกอบรม พร้อมที่จะรับฟังและให้ความรู้
โครงการม้านั่งมิตรภาพ ได้รับการพัฒนาขึ้น ในช่วงยี่สิบปีจากการวิจัยชุมชนในซิมบับเว ใช้วิธีการ บำบัดพฤติกรรมทางความคิดในระดับปฐมภูมิ เพื่อจัดการกับ ‘kufungisisa’ ซึ่งเป็นคำในท้องถิ่น ที่ใกล้เคียงกับภาวะซึมเศร้ามากที่สุด (ตามตัวอักษร คือ “คิดมาก” ในภาษาโชนา)
โครงการม้านั่งมิตรภาพนี้ ใช้ ‘คุณย่าคุณยาย’ ในการรับฟัง เพื่อช่วยเหลือในการบำบัด คุณยายเหล่านี้เป็นอาสาสมัครชุมชนที่ไม่มีประสบการณ์ทางการแพทย์หรือสุขภาพจิตมาก่อน แต่มารับการฝึกฝนให้คําปรึกษาแก่ผู้ป่วยบนม้านั่งไม้ในบริเวณคลินิก โดยปกติใช้เวลาครั้งละ 45 นาที
ตั้งแต่ปี 2006 ดร. ชิบันดาและทีมของเขา ได้ฝึกฝนคุณย่าคุณยายกว่า 600 คน ในการบำบัดด้วยการพูดคุยตามมาตรฐาน ซึ่งกระจายออกไปในชุมชนกว่า 70 แห่งในซิมบับเว และปัจจุบันโครงการนี้ ได้ขยายออกไปนอกซิมบับเวแล้ว มีการนำไปใช้ในมาลาวีและแซนซิบาร์ และได้รับการดัดแปลงนำไปใช้ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาแล้ว