ภาวนาเหมือนเด็กเล็ก ๆ
ถ้าคุณได้ยินเวลาเด็ก ๆ สวดภาวนาคุณต้องตกหลุมรักพวกเขาแน่ ๆ เวลาที่พวกเขาอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้า คำภาวนาของพวกเขาช่างไร้เดียงสาไม่มีความกังวลและความกังวลและความกลัวว่าจะพูดอะไรผิด พวกเขามั่นใจว่ามีใครคนหนึ่งที่คอยฟังคำภาวนาของเขาจริง ๆ พวกเขาวอนขอพระพรและอัศจรรย์ให้เกิดขึ้น ขอแล้วขออีก ซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้เบื่อ
แล้วกับพวกเราล่ะ เกิดอะไรขึ้น เมื่อพวกเราเติบโต และเรียนรู้ว่ามีวิธีสวดภาวนาแบบเป็นทางการซึ่งเราต้องฝึกท่องตามสูตรที่ดูเหมือนทำให้ความกระตือรือร้นในการภาวนานั้นจางหายไป คำภาวนาของเรากลายเป็นเหมือนเครื่องจักรที่จำเจและน่าเบื่อหน่าย จนบางครั้งการสวดภาวนาก็เป็นยาหลับที่ดีเยี่ยม
ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราไม่ได้ซาบซึ้งจริงจังนัก เมื่อเราอธิษฐานภาวนา ฉันยอมรับว่าตัวฉันเองก็มีปัญหาเสมอ ๆ เมื่อต้องภาวนา
ข้อแรกฉันมองว่าการภาวนาเป็นเรื่องที่ “ต้องทำ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การภาวนาไม่ได้มาจากใจอิสระ เมื่อคิดในแง่นี้ใครกันล่ะที่อยากจะภาวนา เมื่อไรก็ตามที่การภาวนากลายเป็นหนึ่งในรายการของสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน ความกระตือรือร้นความมีชีวิตชีวาก็หายไปทันที
ประการที่สอง ฉันโตมากับความคิดที่ว่า เมื่อคุณต้องการทำสิ่งใดให้สำเร็จ คุณต้องทำด้วยตนเองจึงจะเป็นจริงได้
การสวดภาวนาไม่เคยช่วยให้สำเร็จได้หรอก (ซึ่งความคิดนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย)
แล้วถ้าเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความสามารถของคุณล่ะ เมื่อนั้นแหละคุณจึงหันกลับไปหาการภาวนา เพราะแผนการแรกของคุณไม่สำเร็จ แผนที่สองที่สามก็ไม่ได้ผล แต่ส่วนตัวฉัน ฉันก็ยังไม่สวดภาวนาอยู่ดี ทำไมนะหรือ? ก็เพราะฉันเชื่อในคำโกหกที่บอกฉันว่า “พระเจ้าไม่เคยสนใจฉัน และพระองค์ช่วยฉันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก” และหากฉันต้องอธิษฐานภาวนา ฉันก็มักคิดว่าฉันกำลังกวนใจพระองค์ พระองค์ไม่ได้ต้องการฟัง และไม่เคยฟังคำอธิษฐานของฉันเลยแม้แต่นิดเดียว
เมื่อวันเวลาผ่านไป ฉันก็ได้รู้ว่า ฉันมีความรู้น้อยและเข้าใจผิดมากในเรื่องการภาวนา
ข้อแรก การภาวนาไม่ได้เป็นหน้าที่ แต่เป็น “สิทธิพิเศษ”
ในบทจดหมายถึงชาวฮีบรู บทที่ 4 ข้อ 15-16 บอกไว้ว่า “เพราะเหตุว่าเราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป ดังนั้น เราจงเข้าไปสู่พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทาน ด้วยความมั่นใจเพื่อรับพระกรุณา และพบพระหรรษทานเกื้อกูลในยามที่เราต้องการ”
การอธิษฐานภาวนาเป็นพระพรที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่ลูก ๆ ของพระองค์ เป็นสิทธิพิเศษ ไม่ใช่หน้าที่
ประการที่สอง เมื่อพระเจ้าทรงมอบหมายพันธกิจให้ พระองค์ไม่ได้ปล่อยให้เราทำเพียงลำพัง
แทนที่จะคิดว่าคุณต้องทำเองโดยลำพัง จงมอบงานนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์จะทรงจัดการและสอนให้คุณรู้ว่าควรทำอย่างไร ฉันเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากแบบอย่างของผู้มีความเชื่อทั้งหลายในอดีต
ฉันได้อ่านหนังสือเอสเธอร์ (ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เชื่อสิ อ่านแล้วคุณจะชอบ) ในตอนที่ประชากรของเธอกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เธอต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยพวกเรา สิ่งแรกที่เธอทำคือ สวดภาวนาและจำศีลอดอาหารเป็นเวลา 3 วัน ถ้าฉันเป็นเธอ ฉันคงคิดหาวิธีการต่อสู้ขั้นรุนแรงอย่างเฉียบพลัน แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เอสเธอร์ทำ เธออธิษฐานภาวนาเป็นอย่างแรก
หรือถ้าฉันเป็นเธอจริง ๆ ฉันคงสิ้นหวังและยอมแพ้ เพราะโดยสายตาของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เกินกำลังของเธอ คนเหล่านั้นกำลังจะถูกสำเร็จโทษ แต่เอสเธอร์ไม่ได้คร่ำครวญถึงความทุกข์ของตนเอง หรือแม้แต่คิดสงสารตนเองที่ต้องอธิษฐานภาวนาและอดอาหาร ที่สุดพระเจ้าทรงตอบสนองความเชื่อของเธอ พระองค์ทรงเปลี่ยนจิตใจสามีของเธอผู้มีอำนาจที่จะช่วยเหลือได้ เอสเธอร์ร่วมรับความเสี่ยงในพันธกิจและพระเจ้าทรงอยู่กับเธอในทุกก้าวจังหวะของชีวิต
ฉันกอดเก็บปัญหาและความทุกข์ของฉันไว้ เมื่อพระองค์ทรงเป็นเหมือนที่พึ่งสุดท้าย ฉันจึงหันไปหาพระองค์ พระองค์ทรงชี้ทางออกให้ฉัน บางครั้งคำตอบอาจไม่ได้มาในทันที หน้าที่ฉันคือวอนขอซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยปราศจากความกังวลสงสัยและความกลัว
“แต่เขาต้องขอด้วยความเชื่อ โดยไม่สงสัยเพราะผู้ที่สงสัยนั้นเปรียบเสมือนคลื่นในทะเลที่ถูกลมพัดซัดไปมา” (ยก 1:6) และวันหนึ่งพระองค์จะทรงประทานอาจดูเหมือนว่าพระองค์ทรงไม่ทันการ แต่ที่จริงแล้ว พระองค์ทรงทันเวลาเสมอ
หัวใจของการภาวนาคือการภาวนาแบบเด็ก ๆ ฉันเองกำลังพยายามอยู่ ฉันเชื่อว่าแม้จะเป็นการเริ่มต้นก้าวเดินเล็ก ๆ แต่พระองค์ทรงเปิดประตูแห่งความสัมพันธ์ของฉันกับพระองค์แล้ว